เมื่อเราลดน้ำหนักโดยการจำกัดการรับประทานอาหารทานน้อยจนเกินความจะเป็น หรือเลือกรับประทานอาหารอย่างใดอย่างนึงเพียงอย่างเดียว อาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ อาการท้องผูก จนทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อยร่วมด้วย เวลาเข้าห้องน้ำต้องออกแรงเบ่งมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบขับถ่าย เป็นริดสีดวงทวาร หรือแม้กระทั่งไส้ติ่งอักเสบ ที่สำคัญ อาการท้องผูกมักเป็นอาการหนึ่งเมื่อระบบลำไส้ใหญ่มีความผิดปกติ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงลำไส้ เป็นต้น
ท้องผูกเกิดได้อย่างไร
- เกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ หรือ บีบตัวลดลง ทั้งนี้เพราะ ขาดตัว กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ จากมีลำอุจจาระเล็ก เช่น จากกินอาหารที่ขาดใยอาหาร และหรือ ดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลงอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า
- เกิดจากขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย และการออกกำลังกาย จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัว เคลื่อนตัวช้า
- เกิดจากปัญหาทางอารมณ์จิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่าย จึงส่งผลถึงการทำงานของลำไส้ ลดการบีบตัวลง
สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อยกว่า คือ
- มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้ และหรือประสาทลำไส้ จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวลดลง กากอาหารอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้าลง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ และไตวาย
- มีโรคของระบบสมอง และประสาท จึงส่งผลถึงการทำงานเคลื่อนไหวบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกมะเร็งของสมอง หรือ ของไขสันหลัง
- โรคของกล้ามเนื้อเอง จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวลดลง เช่น โรคกล้ามเนื้อแข็ง (Scleroderma)
- กินยาบางชนิดที่ลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาคลายเครียดบางชนิด ยาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือ ยาขับน้ำ
- โรคของลำไส้เอง ก่อให้เกิดการอุดกั้นลำไส้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้อาการท้องผูก อาจเกิดมาจากการมีพฤติกรรมการกิน การขับถ่ายและการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดไป ได้เช่นกัน
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- รับประทานใยอาหารน้อยเกินไป
- เมื่อเดินทางไกล
- รับประทานอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์มากเกินไป เช่น นม ชีส
- ความเครียด
- กลั้นอุจจาระ ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
- ใช้ยาถ่ายอยู่เป็นประจำ (ในบางคนพึ่งยาถ่ายอยู่เป็นประจำครับ เมื่อหยุดยา อาการท้องผูกก็จะกลับมา)
- การใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ อะลูมิเนียม หรือ แคลเซียม (หรือที่เรียกกันว่า ยาธาตุน้ำขาว)
- การตั้งครรภ์
วิธีการแก้ไขอาหารท้องผูก
- ดื่มน้ำ กินผัก ผลไม้ทั้งสดและแห้ง หรืออาหารที่มีกากใยมากๆ รวมทั้งข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ถั่ว ฟักทอง ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มเส้นใยช่วยการขับถ่ายได้
- ไม่ควรเร่งรีบในขณะที่กินอาหาร ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด หรือกินมะละกอสุกก่อนอาหาร และดื่มน้ำตามมากๆ นักธรรมชาติบำบัดเชื่อว่า การกินอาหารจากธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีกว่า ซึ่งอาจทำได้โดยการกินรำข้าวเสริม โดยโรยลงไปบนอาหาร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
- อย่ากลั้นอุจจาระ ควรเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่รู้สึกปวด หรือหลังจากที่กินอาหารเช้าที่เป็นธัญพืช โดยพยายามนั่งถ่ายอย่างผ่อนคลายประมาณ 10 นาที หรือฝึกนิสัยการขับถ่ายเป็นเวลาให้ตัวเอง
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วต่อวัน ยกเว้นว่าเป็นโรคที่จำกัดน้ำเช่น โรคไตวาย และโรคหัวใจ
- ลด หรือ งดการดื่มชา หรือกาแฟ เพราะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้นเนื่องจากคาร์เฟอีมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
สมุนไพรไทยที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
- มะขาม กินมะขามฝักแก่ หรือมะขามเปียก 10-20 ฝัก จิ้มเกลือ หรือคั้นเป็นน้ำดื่ม
- ขี้เหล็ก นำแก่น 50 กรัม ราก ลำต้น ดอก ใบ และผลของขี้เหล็ก รวมทั้งหมด 20-25 กรัม ไปต้ม เอาแต่น้ำ ดื่มก่อนอาหารหรือก่อนนอน
- มะเฟือง ขณะท้องว่างประมาณ 1 ชั่วโมง กินมะเฟืองที่มีรสเปรี้ยว 2-3 ลูก นอกจากจะเป็นยาระบายได้แล้ว มะเฟืองยังช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- เมล็ดชุมเห็ดไทย นำเมล็ดชุมเห็ดไทยประมาณ 1 กำมือ มาคั่วให้เหลือง แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาดปริมาณ 1-2 แก้วจนเดือด นอกจากจะช่วยระบายท้องแล้ว เมล็ดชุมเห็ดไทยยังมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย
- น้ำอุ่นผสมน้ำมะนาวขณะท้องว่าง หลังตื่นนอน
รู้อย่างนี้แล้ว ยังไงก็ไม่แนะนำให้ทานยาระบายหรือชาระบายบ่อยๆ เพราะจะทำให้การทำงานของลำใส้เสียได้ ควรใช้วิธีธรรมชาติ ดื่มน้ำมากๆและค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของอาการท้องผูกจะดีกว่าค่ะ
Credit: นิตยสารชีวจิตร, thaifittips.com, haamor.com