Go to content

หวานด้วยหญ้าหวาน อิควลสตีเวีย ความหวานที่ได้จากจากธรรมชาติ

อิควลสตียเวีย ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ผลิตจากหญ้าหวานธรรมชาติ เอาใจคนชอบทำอาหาร เพราะสตีเวียทนความร้อนได้สูง ใช้ปรุงอาหารบนเตาร้อน หรือใช้ทำขนมอบต่างๆได้ หวานได้เหมือนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน

มื้อเช้ากับ Equal Stevia

ต้องยอมรับเลยว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่วงนี้ออกมากันอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าออกมากันแบบรัวๆเลยทีเดียว ทั้งอาหาร ขนม นม เนย แม้แต่แบรนด์พี่เบิ้มในวงการหวานๆอย่าง อิควลเองก็ไม่รอช้าคว้าจังหวะช่วงปีใหม่ออกผลิตภัณฑ์หวานๆตัวใหม่ มาเอาใจเหล่าคนรักสุขภาพ และคนที่ลดน้ำหนักอยู่ ด้วย อิควลสตีเวีย ความหวานจากหญ้าหวาน

สถิติความหวานที่น่าสะพรึง

ก่อนจะคุยเรื่องอิควล เรามาพูดถึงสถิติหวานๆในบ้านเรากันก่อน เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยกินหวานเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของสำนักโภชนาการแสดงให้เห็นชัดเลยว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาคนไทยบริโภคน้ำตาลที่อยู่รวมในอาหาร ขนมและเครื่องดื่มราวๆ 16 ช้อนชา ต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งปริมาณขนาดนี้ ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับปริมาณความหวานที่สำนักโภชนาการและหลายๆองค์กรด้านสุขภาพแนะนำ ซึ่งความหวานที่เหมาะสมและไม่ทำร้ายสุขภาพจะอยู่ที่เฉลี่ยไม่เกิน 6.7 ช้อนชาต่อคนต่อวันเท่านั้น

เนื่องด้วยความหวานที่มากจนเกินความพอดี มีผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่างๆมากมาย ทั้งระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน จึงทำให้ทุกๆหน่วยงานออกมาร่วมด้วยช่วยกันบอกให้พยายามลดการทานน้ำตาลลงเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

หวานอย่างมีสติ

มาถึงตรงนี้จะบอกให้เลิกหรือหยุดทานหวานไปเลยก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะอย่างน้อยความหวานก็ยังมีประโยชน์ดีๆอยู่ น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรต ที่เป็นพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ ทำให้ร่างกายสดชื่น ดั้งนั้นเพื่อลดการบริโภคที่มากเกินไป อาจใช้วิธีเลือกความหวานจากธรรมชาติแหล่งอื่นๆมาทดแทน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อช่วยลดพลังงานและปริมาณการบริโภคน้ำตาลลง

อิควลสตีเวียใส่ในอาหาร

เปิดกล่องฉีกซอง อิควลสตีเวีย

จริงๆแล้วตัวแอดมินเองก็ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอยู่แล้ว ใช้ทั้ง 3 ตัวเลยก็ว่าได้ ทั้งแอสปาแตม ซูคราโลส และ หญ้าหวานสตีเวีย แต่จะเลือกว่าจะใช้อะไรกับอาหารแบบไหน แต่ต้องบอกก่อนนะว่าไม่ได้ใช้ทดแทนน้ำตาลจริงๆไปเลย แต่ใช้กับเมนูอาหารในช่วงที่ต้องการควบคุมปริมาณคาร์บโบไฮเดรต อย่างน้อยก็ช่วยลดการใช้ปริมาณน้ำตาลทรายลงได้ การทานผลิตภัณฑ์ให้ความหวานไม่ได้ใช้กับผู้ป่วยหรือคนแก่เท่านั้นนะ อย่างที่บอกไปว่ามันเป็นตัวช่วยให้เราลดปริมาณการทานหวานได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดขาดความหวานไปจากชีวิตประจำวัน

อิควลสตีเวีย เป็นสารสกัดจากหญ้าหวาน

หรือ สตีวิออลไกลโคไซด์ ซึ่งเป็นสารสกัดบริสุทธิ์จากใบหญ้าหวาน ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้มีการผลิต จำหน่ายและใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้

เนื่องจาก สตีวิออลไกลโคไซด์ เป็นวัตถุให้ความหวานที่หวานกว่าน้ำตาลจริงๆหลายเท่า จึงใช้ปริมาณน้อยมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อ ในอิควลสตีเวีย 1 ซองจึงมีวัตถุให้ความหวานอีกตัวคือ อีริทริทอล ซึ่งเป็นความหวานสกัดที่ได้จากผักและผลไม้ มีความหวานเท่ากับ 70% ของน้ำตาลทรายจริงๆ ให้พลังงานเท่ากับ 0.2 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม จึงทำให้ อิควลสตีเวีย 1 ซอง น้ำหนัก 2 กรัม ให้พลังงานเป็น 0 แต่ให้ความหวานเท่ากับ น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

ลักษณะเนื้อน้ำตาลของอิควลสตีเวีย

ข้อมูลโภชนาการใน อิควลสตีเวีย

หน่วยบริโภค 1 ซอง 2 กรัม
พลังงาน 0 kcal
ไขมันทั้งหมด 0 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 0 กรัม
น้ำตาล 0 กรัม
โซเดียม 0 กรัม

ลักษณะหน้าตา และรสชาติ

เมื่อฉีกซองอิควลสตีเวียออกมาดู ลักษณะหน้าตาต่างจากสตีเวียแบรนด์อื่นๆ ตรงที่มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายน้ำตาล ไม่เป็นผงละเอียด ให้ความรู้สึกเหมือนการใช้น้ำตาลจริงๆ ให้รสหวานไม่เฝื่อนขม เนื่องจากเค้าแต่งกลิ่นครีมวนิลาลงไป เพื่อช่วยกลบความเฝื่อน จึงทำให้นำมาทำอาหารและขนมได้โดยไม่เสียรสชาติ

ใช้อิควลสตีเวียปรุงอาหาร

ทำอาหารกับอิควลสตีเวีย

ช่วงหลังๆแอดมินจะใช้สตีเวียปรุงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงๆ อย่างกับข้าวที่ผ่านความร้อนบนเตาไฟ โดยเฉพาะขนมอบต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศก็นิยมใช้หญ้าหวานสตีเวียมาเพิ่มความหวานในอาหารและขนมคลีนมากมายเลยหล่ะ

ด้วยที่อิควลสตีเวีย 1 ซองทดแทนความหวานเท่ากับน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา เวลาใช้ก็อาจจะต้องปรับสูตรทดแทนน้ำหนักกันไป หรือเลือกใช้ร่วมกับน้ำตาลทรายจริงๆที่ไม่ผ่านกระบวนการ เพื่อลดการใช้น้ำตาลลงก็ได้ สำหรับการใช้อิควลสตีเวียในการทำขนมอบต่างๆนั้น ก็มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหลาย จะได้ทำขนมแบบคลีนๆออกมาได้อร่อย ปัง แบบไม่ผิดพลาดกัน

ใช้ปรุงอาหารแล้วเป็นอย่างไร

อิควลสตีเวียไม่ได้ใช้แต่กับเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังสามารถปรุงอาหารได้หลากหลาย สำหรับแอดมินที่เป็นคนไม่ได้ทานหวานอะไรมากมาย ก็ใช้ปรุงกับข้าวพวก ต้ม ผัด แกงที่จำเป็นต้องมีรสหวานอ่อนๆได้แถมยังใช้ create ขนมคลีนๆให้คนที่บ้านคนอื่นๆได้ทานกันด้วย รสชาติไม่ขมฝาด ไม่เฝื่อนเลยหล่ะ ก็ต้องอาศัยวิทยายุทธในการทำนิดๆหน่อย

ความเห็นส่วนตัวสำหรับการใช้อิควลสตีเวีย เราว่าเค้าทำให้มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายน้ำตาลไม่เป็นผงเหมือนสารเคมี รสอร่อยใช้ง่ายละลายเร็ว ฉีกซองมาไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง เก็บรักษาและพกพาสะดวก การใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาลนอกจากใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้แล้ว สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สามารถทานได้ เพียงแต่ใช้ทดแทนในปริมาณที่ต่างกันไม่จำเป็นต้องตัด หรืองดการทานหวานจริงๆจากน้ำตาลแล้วหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้สำหรับช่วยลดปริมาณการทานน้ำตาลลง แล้วค่อยๆปรับตัวให้ทานความหวานแต่พอดีจะดีที่สุด

ใช้อิควลสตีเวียกับขนม

การใช้อิควลสตีเวียกับขนมคลีนๆ

หลังจากที่ได้ทดลองใช้ ทำพังทำเสีย อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง ก็เลยหาข้อมูลอุดรอยความพังพินาศของขนม จนได้เคล็ดลับการใช้สตีเวียกับขนมอบต่างๆดังนี้

สำหรับขนมที่หวานจัดๆ พวกน้ำเชื่อมหรือคาราเมลที่ต้องการความข้นหนืด ให้ใช้อิควลสตีเวียทดแทนความหวานเป็นบางส่วน อาจใช้อัตราส่วน น้ำตาล 50% และ อิควลสตีเวีย 50% ก็ได้ เนื่องจากอิควลสตีเวียเมื่อเคี่ยวแล้วจะไม่แปรสภาพ ไม่ข้นไม่หนืดเหมือนน้ำตาลจริงๆ

อาหารที่ต้องการการขึ้นฟู หรือขนมที่ใช้ฝงฟู อย่างเค้กต่างๆ การใช้ อิควลสตีเวียในการทำขนมจะทำให้ความฟูและฟองอากาศในเนื้อเค้กลดลง เพื่อให้ขนมออกมาฟูสวยตามปรกติ แนะนำให้เติมผงฟูเพิ่มขึ้นจากสูตรประมาณ 1/2 ช้อนชา

ต่อมาคือ ขนมปัง ขนมอบที่ใครๆ ก็ชอบ แอดมินเองก็ทำบ่อย สำหรับการทำขนมปังจะแนะนำให้ใช้น้ำตาลจริงๆ เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ยีสทำงานเสียก่อน จากนั้นใช้อิควลสตีเวียเป็นตัวเพิ่มความหวาน เพราะถ้าใช้สตีเวียเพียวๆเลย ยีสจะไม่ย่อยสตีเวียและคลายฟองอากาศออกมาเหมือนกับน้ำตาล อาจทำให้ขนมปังออกมาด้านและแข็งได้

เคล็ดลับสุดท้ายสำหรับเมนูอย่าง คุกกี้ พาย และเค้ก การใช้อิควลสตีเวียอาจทำให้ขนมออกมาร่วนและแห้งขึ้นซักหน่อย จึงแนะนำให้เพิ่มส่วนผสมที่เป็นไขมันขึ้นเล็กน้อย ลดปริมาณน้ำตาลลง และเสริมแต่งความหวานด้วยอิควลสตีเวีย ที่จะช่วยลดพลังงานจากการใช้น้ำตาลลง และทำให้ขนมอร่อยได้ไม่ต่างจาการใช้น้ำตาลจริงๆเลย

ราคาของอิควลสตีเวีย ขนาดบรรจุ 40 ซอง ขายกันกล่องละ 110 บาท สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป เล่ามาซะยืดยาว อย่ากระนั้นเลย ก็ถือโอกาสโชว์ฝีมือการทำขนมไทยสไตล์ชื่ออินเตอร์อย่าง ขนมโตเกียว โดยใช้อิควลสตีเวียมาทดแทนความหวาน ให้เอาไปลองทำกันดูนะ

ขนมโตเกียวสูตรหญ้าหวานใส้ไก่ผัด

2 สไตล์ขนมโตเกียวสูตรหญ้าหวาน

ขนมโตเกียววันนี้จะค่อนข้างพิเศษนิดนึง คือจะเป็นขนมโตเกียวที่เป็นแป้งโฮลวีท ใส่ไส้แบบจัดเต็ม แต่ดีต่อสุขภาพ ลืมขนมโตเกียวรถเข็นไปได้เลย เพราะทำเองอยากใส่อะไรก็เต็มที่ สูตรวันนี้เอาไป 2 รส 2 สไตล์ หวานและเค็ม ขั้นตอนอาจจะเยอะซักหน่อย เเต่ความจริงทำไม่ยากเลย หลักๆจะแบ่งส่วนผสมออกเป็นส่วนของแป้ง ไส้ และ เครื่องเคียงสำหรับจัดจานเสิร์ฟ ว่าแล้วก็ไปดูส่วนผสมเลยดีกว่า

ส่วนของแป้งโตเกียวโฮลวีตสูตรใช้หญ้าหวาน

ปริมาณส่วนผสมนี้จะทำขนมโตเกียวได้ประมาณ 10 ชิ้น

  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 30 กรัม (110 kcal)
  • แป้งโฮลวีท 30 กรัม (102 kcal)
  • ผงฟู 1/2 ช้อนชา (1 kcal)
  • เบกกิ้งโซดา 1/2 ช้อนชา (0 kcal)
  • อิควลสตีเวีย 3 ซอง (0 kcal)
  • เกลือ 1/4 ช้อนชา (0 kcal)
  • กลิ่นวนิลา 1/2 ช้อนชา (6 kcal)
  • นมสดพร่องมันเนย 40 ml. (32 kcal)
  • ไข่ไก่ 1 ฟอง (78 kcal)

วิธีการเตรียมแป้ง

ผสมส่วนผสมทั้งหมดลงในชามผสม จากนั้นคนให้เข้ากัน หากส่วนผสมข้นเกินไป สามารถเติมนมเพิ่มได้เล็กน้อย พักส่วนแป้งรอไว้แล้วไปเตรียมไส้

ขนมโตเกียวสูตร Equal Stevia ใส้เนยถั่ว

ส่วนผสมไส้ ไก่-กุ้ง พริกไทยดำ

  • กุ้งเป็นตัว 100 กรัม (99 kcal แบ่งออกมาใช้ย่างเป็นตัว 3-4 ตัว ส่วนที่เหลือนำมาหั่นหยาบๆ)
  • ไก่สับหยาบๆ 100 กรัม (110 kcal)
  • แครอทหั่นเป็นเต๋าเล็ก 30 กรัม (12 kcal)
  • ต้นหอมซอย 1 ต้น (2 kcal)
  • กระเทียม 1 กลีบ และ หอมแดง 1 หัว (7 kcal)
  • พริกไทยดำ 3 กรัม (6 kcal)
  • น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนชา (40 kcal)
  • ซีอิ้วขาว 2 ช้อนชา (6 kcal)
  • อิควลสตีเวีย 1 ซอง (0 kcal)

วิธีการเตรียมไส้ไก่-กุ้ง พริกไทยดำ

นำกระเทียม หอมแดง ปอกเปลือกโขลกรวมกับพริกไทยดำจนละเอียด ตั้งกระทะเติมน้ำมันรำข้าว 1 ช้อนชา จากนั้น เติมกระเทียม หอมแดง และพริกไทยที่โขลกไว้ลงผัดคั่วจนได้กลิ่นหอม ใส่ไก่สับลงไป พอเนื้อไก่เริ่มสุก ให้เติมกุ้งสับลงคั่วพอสุก เติมน้ำเล็กน้อยแต่อย่าให้แฉะเกินไป เมื่อกุ้งเริ่มสุก ให้เติมแครอทที่หั่นไว้ลงผัด ปรุงรสด้วย ซีอิ้วขาว และอิควลสตีเวีย รวนให้แห้ง สุดท้ายโรยด้วยต้นหอม ปิดไฟ ยกขึ้นพักไว้ จากนั้นเตรียมกระทะทาน้ำมันเล็กน้อย นำกุ้งเป็นตัวที่แบ่งไว้ ลงย่าง ย่างสองด้านแค่พอสุกตักขึ้นพักไว้

ส่วนผสมของไส้เนยถั่ว-กล้วยหอม

  • เนยถั่ว 1 ช้อนชาต่อ 1 ชิ้น (31 kcal)
  • กล้วยหอมตัดเป็นชิ้นเล็กๆ (3 kcal)
  • น้ำผึ้ง 1/2 ช้อนชา ต่อ 1 ชิ้น (16 kcal)

ส่วนของเครื่องเคียงในการประกอบโตเกียว และจัดจานสำหรับเสิร์ฟ

ไส้ไก่-กุ้ง พริกไทยดำ

  • มะเขือเทศราชินี หั่นครึ่งผล (6 kcal)
  • ผักสลัดจับเป็นช่อเล็กๆ (0 kcal)

ไส้เนยถั่ว-กล้วยหอม

  • สตรอว์เบอร์รี 8 ผล หั่นเป็นชิ้น (16 kcal)
  • กล้วยหอมหั่น ครึ่งผล (44 kcal)
  • ถั่วหรืออัลมอนด์คั่วสับหยาบๆ 10 กรัม (70 kcal)
  • น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา (32 kcal)

มาประกอบโตเกียว 2 สไตล์สูตรหญ้าหวานกัน

ไส้ไก่-กุ้งพริกไทยดำ

ตั้งกระทะเทฟลอนไม่ต้องทาน้ำมัน ใช้ไฟอ่อนถึงกลาง ตักแป้งที่ผสมไว้ปริมาณประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ( พลังงานราวๆ 29 kcal ) หยอดเป็นวงกลมแล้วค่อยๆเกลี่ยออกให้เป็นวงรี เมื่อเริ่มเกิดฟองที่แป้งให้เติมไข่ที่ตีไว้ลงไปประมาณ 1 ช้อนชา ( พลังงานราวๆ 6 kcal ) เกลี่ยให้ทั่ว เมื่อไข่เริ่มสุกเติมไส้ที่ผัดไว้ลงไปปริมาณ 1 ช้อนชา ( พลังงานราวๆ 24 kcal )

จากนั้นม้วนให้ปลายด้านนึงบานออก ลักษณะเหมือนกรวย นำขึ้นพักไว้สักครู่ให้เย็นตัวพอจับได้ นำผักสลัดมาใส่ในช่องด้านบน เติมกุ้งที่ย่างไว้ ตามด้วยมะเขือเทศราชินีครึ่งผล ก็จะได้โตเกียวไส้ ไก่-กุ้งพริกไทยดำ แบบไส้อัดแน่น 1 ชิ้น พลังงานเฉลี่ยจากส่วนผสมทั้งหมด โตเกียวไส้ ไก่-กุ้ง พริกไทยดำ 1 ชิ้น ให้พลังงาน 71 kcal

ไส้เนยถั่ว-กล้วยหอม

อันนี้จะง่ายกว่าและมีขั้นตอนน้อยกว่าหน่อย คือ เริ่มด้วยการหยอดแป้งลักษณะเดียวกับไก้ไก่-กุ้งพริไทยดำ เมื่อเริ่มเกิดฟองที่แป้ง ให้นำเนยถั่วทาลงไป ตามด้วยกล้วยหอมที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ราดด้วยน้ำผึ้ง สังเกตุเมื่อแป้งเริ่มมีฟองมากขึ้นก็ทำการม้วนได้เลย พลังงานของ โตเกียวไส้เนยถั่ว-กล้วยหอมจากสูตร จะอยูที่ 79 kcal ต่อชิ้น เวลาเสิร์ฟก็เติมผลไม้สดอย่างสตรอว์เบอร์รี กล้วหอมครึ่งผล น้ำผึ้ง และ อัลมอนด์คั่วสับหยาบๆลงไปเสริมด้วย เพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหาร

ใช้อิควลสตีเวียหญ้าหวานทำทั้งของคาวและของหวาน

การใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแทนน้ำตาล ถึงจะไม่เป็นอันตราย และสามารถใช้ได้กับคนทั่วไปที่ห่วงใยสุขภาพ และคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ใช้สำหรับเพื่อลดปริมาณพลังงานจากการทานน้ำตาลง แต่ก็ควรใช้แต่พอดี ไม่มากเกินไปจนทำให้เสพติดความหวาน ดังนั้นวิธีการที่ดีต่อสุขภาพคือการเลือกแหล่งน้ำตาลที่มาจากธรรมชาติชนิดไม่ผ่านกระบวนการและใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นส่วนเสริมจะดีกว่า

Latest