มนุษย์เราทุกคนเกิดขึ้นมาพร้อม DNA ที่ต่างกัน
DNA หรือ (Deoxyribonucleic acid (ดีออกซิไรโบ นิวคลีอิค แอซิด)) คือรหัสพันธุกรรมพื้นฐานในแต่ละบุคคล ถูกสร้างมาตั้งแต่กำเนิด โดยการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง และจะไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ซึ่งรหัสพันธุกรรมพื้นฐานเหล่านี้ ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์อย่างเราด้วย
DNA คือ อะไร?
DNA ของคนเราจะมาจากการผสมลักษณะทางพันธุกรรม จากพ่อ และแม่อย่างละครึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ความไวต่อสภาพแวดล้อม ความไวต่ออาหาร และ ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ DNA เป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ จึงได้มีการนำเอา เทคโนโลยีการตรวจพันธุกรรม หรือ เทคโนโลยีทางชีวภาพมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้านดังนี้
- ด้านการพัฒนายารักษาโรค
- ด้านการป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ด้านการวินิฉัยสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ
- ด้านการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน
- ด้านกฎหมาย หรือ นิติวิทยาศาสตร์
- ด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือนูทริจีโนมิกส์ (Nutrigenomics)
นูทริจีโนมิกส์ (Nutrigenomics) คืออะไร?
นูทริจีโนมิกส์ (Nutrigenomics) หรือ โภชนพันธุศาสตร์ คือการตรวจ DNA เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการ สมรรถภาพร่างกาย และพันธุกรรม ทำให้ทราบถึง ความต้องการสารอาหาร การตอบสนองต่ออาหาร สุขภาพองค์รวม เช่น การเผาผลาญอาหาร และสมรรถภาพร่างกาย
ประโยชน์ของ โภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics)
โภชนพันธุศาสตร์ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีทางชีวภาพ ด้วยการตรวจ DNA ที่ได้จากการเก็บตัวอย่างจาก น้ำลาย เนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อในกระพุ้งแก้มภายในช่องปาก เลือด และ เส้นผม นำมาเข้าห้องปฏิบัติการ แยกลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ออกมา แล้วนำมาประมวลผล เพื่อประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพต่อไป โดยผลที่ได้ จะแสดงถึงการตอบสนองของร่างกายต่อตัวแปรต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
ความต้องการสารอาหาร
แสดงถึงความสามารถในการดูดซึม และนำสารอาหารไปใช้ รวมถึงความสามารถในการทำงานของสารอาหาร ว่าร่างกายของผู้ได้รับการตรวจนั้น สามารถดูดซึม และนำสารอาหารไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือสารอาหารนั้นทำงานได้ดีหรือไม่ ได้แก่ กรดโฟลิก วิตามินบี6 วิตามินบี12 วิตามินซี วิตามินดี โอเมก้า3 และสารต้านอนุมูลอิสระ
ความไวต่ออาหาร
แสดงให้เห็นว่าร่างกายของผู้ได้รับการตรวจมีความไวต่ออาหารแต่ละประเภทอย่างไร เช่น ร่างกายตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า และน้ำหนักขึ้นง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีการตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตแบบปกติ หรือ หากดูเรื่องความไวต่อรสชาติอาหาร บางคนสามารถรับรู้และแยกแยะรสชาติอาหารได้ดีกว่าคนอื่น หรือ บางคนที่รับรู้รสชาติได้น้อยก็อาจทำให้ต้องปรุงอาหารให้มีรสจัดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจความไวต่ออาหารอื่นอีก ได้แก่ ไขมัน เกลือ คาเฟอีน และ แอลกอฮอลล์
สุขภาพองค์รวม
แสดงให้เห็นถึงอัตราการเผาผลาญพลังงานของแต่ละบุคคล การตอบสนองต่อการอักเสบ ความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคอ้วน นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสามารถในการควบคุมความอยากอาหารได้ด้วย
สมรรถภาพทางร่างกาย
แสดงถึงความสามารถ และ สมรรถภาพทางร่างกาย ว่าร่างกายของผู้ได้รับการตรวจถูกสร้างมาให้เหมาะกับการออกกำลังกายแบบใด และต้องดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อต้องการออกกำลังกาย ซึ่งจะแสดงถึง ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ ประสิทธิภาพของการนำออกซิเจนไปใช้ ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังออกกำลังกาย รวมถึงความทนทาน (ความอึด) หรือพละกำลังของร่างกาย
โภชนศาสตร์พันธุกรรม (Nutrigenomics) เหมาะกับใคร
การจัดการโภชนาการ และ การดูแลสุขภาพด้วยการประเมินผลจากการตรวจ DNA นั้น ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเริ่มได้รับความสนใจในไทย แต่ใช้กันมานานแล้วในอเมริกา โดยเฉพาะในหมู่นักกีฬา ใช้เพื่อจัดโปรแกรมการรับประทานอาหาร และวางตารางการฝึกซ้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านร่างกายให้พร้อมรับกับการฝึก และการแข่งขัน
สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ โภชนศาสตร์พันธุกรรม (Nutrigenomics) ยังนิยมใช้ประกอบการวางแผนโภชนาการ เพื่อการลดน้ำหนัก ในกลุ่มคนที่มีปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน อีกด้วย
สำหรับคนทั่วไป สามารถใช้ผลตรวจ เพื่อมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ปริมาณการทานอาหารแต่ละชนิด การเลือกกิจกรรมการออกกำลังกาย ระยะเวลาการออกกำลังกายให้เหมาะสม และการกำหนดเวลาในการฟื้นฟูร่างกายให้เพียงพอ
ฝากไว้เป็นข้อคิดต่อ
การตรวจนูทริจีโนมิกส์ (Nutrigenomics) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อให้เราเห็นภาพกว้างๆ ว่าร่างกายของแต่ละบุคคลนั้นมีความต้องการอย่างไร ส่วนผลที่ได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองมากกว่า ว่าเมื่อทราบแล้ว จะเพิ่ม จะเสริม จะลดการรับประทานอาหารประเภทไหนบ้าง และ จะดูแลสุขภาพตนเองอย่างไร เพราะสุดท้ายสุขภาพของเราอยู่ในมือเรา ต้องลงมือทำด้วยตนเอง จึงจะเกิดผล
References
เรียบเรียง : lovefitt.com
- “Nutrigenomics: The Genome–Food Interface” (www.ncbi.nlm.nih.gov)
- “Nutrigenomics 101” (www.foxnews.com)
- “Nutrigenomics: Does Food Influence How Our Genes Behave?” (www.draxe.com/nutrigenomics)
- “Nutrigenomics to lose weight & Be healthy” (www.blog.ring.md)
- “DNA คืออะไร” (www.thaibiotech.info)
- “เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านการแพทย์และสุขภาพ” (www.thaibiotech.info)
- www.mythaidna.com/th/how-it-works
- www.prenetics.com/en/nutrigenomics.html