บุคคลทั่วไปอาจยังไม่ทราบว่าเด็กๆก็เป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ นอกจากบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ จึงเริ่มให้ความสนใจโรคหัวใจในเด็กมากขึ้น เด็กมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางรายอาจเสียชีวิตก่อนเกิด บางรายเริ่มมีอาการ หรือตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด บางรายตรวจพบเมื่อออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือมีอาการหลังอายุ 1-2 เดือน และ จากสถิติพบว่าเด็กไทยแรกเกิดทุกๆ 1,000 คนจะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่ในบางกรณีเด็กบางคนอาจเป็นโรคหัวใจภายหลังเกิด อาจมีอาการหลังอายุ 1-2 เดือนไปแล้ว หรือเมื่ออายุหลายๆปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหัวใจ มีอาการหลังอายุ 1-2 เดือนไปแล้ว
เราสามารถแบ่งโรคหัวใจในเด็กได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 70-80 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมดโรคนี้อาจตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังคลอดหรืออาจตรวจพบเมื่อลูกโตแล้วทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการเพราะจำนวนครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีอาการหัวใจวายหรือเขียวซึ่งต้องการการรักษาหรือผ่าตัดยังไม่ทราบสาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอย่างแน่ชัดอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ส่วนน้อยอาจเกิดจากการที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือกินยาบางชนิด ดื่มเหล้า ได้รับรังสีบางชนิดขณะตั้งครรภ์รวมทั้งมารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก และเป็นโรคเบาหวานหรือโรคทางพันธุกรรม
โรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นหลังคลอด
แบ่งได้เป็นโรคหัวใจชนิดต่างๆ ซึ่งที่พบได้บ่อยคือ
- โรคหัวใจรูมาติก
- โรคคาวาซากิ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
นอกจากนี้ โรคหัวใจในเด็กที่พบได้ ยังมีโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคหัวใจอันเกิดจากโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง โรคทาลัสซีเมีย ไตวายเรื้อรังและความผิดปกติทางพันธุกรรม
นอกจากโรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนินแล้วเด็กไทยในปัจจุบันยังมีแนวโน้มเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันอีกด้วย
โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเป็นสาเหตุหมายเลขที่หนึ่งของการเสียชีวิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว และจำนวนประชากรในประเทศไทยที่เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ก็กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบันนี้นอกจากจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว อายุของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็น้อยลงด้วย เมื่อเทียบกับสมัยก่อน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องจากการเลียนแบบพฤติกรรมของประชากรทางซีกโลกตะวันตก ทำให้พฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้นอย่างมาก และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก
ซึ่งถ้ามีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสมแล้ว โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันก็อาจจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย และการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นจนทำให้มีอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่
นอกจากกรรมพันธุ์แล้ว ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมีหลายอย่าง เช่น ความอ้วน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมัน (คอเลสเตอรอล) สูงในเลือด เบาหวาน การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากโรคหลอดเลือดแดงอุดตันจากตะกอนไขมัน ในความเป็นจริงเริ่มก่อตัวตั้งแต่ผู้ป่วยอยู่ใน วันเด็ก การป้องกันการเกิดโรคนี้จึงควรเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็ก
การช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในเด็กจะต้องเริ่มต้นในครอบครัว โดยผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกัน
- ส่งเสริมสุขภาพเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มัน ไม่หวาน ไม่เค็มจนเินไป และควบคุมน้ำหนักเด็กให้เหมาะสม และตรวจเช็คปริมาณไขมันในเด็กอย่างสม่ำเสมอ
- สำหรับผู้ปรกครองที่สูบบุหรี่ ควรงดหรือเลิกสูบบุหรี่เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเป็นผู้สูบบุหรี่มือสองได้
- พยายามลดและควบคุมเวลาหน้าทีวี เล่นเกมส์ คุยโทรศัพท์ และการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง และ ส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายและกิจกรรมที่ให้เด็กได้เคลือนไหวร่างกายให้กับเด็ก
References
เรียบเรียง : lovefitt.com
- มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ
- มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก โรงพยาบาลราชวิถี
- ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ