Go to content

ความจริงเรื่อง น้ำมันมะพร้าว กับ การลดน้ำหนัก

ต้องยอมรับถึงกระแสการรับประทานน้ำมันมะพร้าวในช่วง 1-2 ปีนี้แรงเหลือเกิน บ้างก็บอกช่วยเรื่องผิวพรรณ บ้างก็บอกเพื่อสุขภาพ หรือแม้กระทั้งช่วยลดความอ้วนได้ เรามาดูกันว่าน้ำมันมะพร้าวจริงๆช่วยลดความอ้วยได้หรือไม่

coconut-oil

น้ำมันมะพร้าว (coconut oil)

คือน้ำมันที่ได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อผลของต้นมะพร้าว (Cocos nucifera L.) ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Arecaceaeหรือ Palmae) ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวที่จำหน่ายในท้องตลาดและได้รับความสนใจในขณะนี้ คือ virgin coconut oil ซึ่งหมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี วิธีที่ใช้ในการเตรียม virgin coconut oil เช่น วิธีบีบเย็น เป็นต้น

องค์ประกอบหลักของน้ำมันมะพร้าว

เป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าวนั้นเป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น  กรดลอริก(lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน(adipose tissue)ได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น (1, 2)

จากคุณสมบัติดังกล่าวของน้ำมันมะพร้าว ส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับประทานเพื่อช่วยลดความอ้วน จากรายงานการศึกษาทางคลินิก (randomised, double-blind, clinical trial) ในประเทศบราซิล (3) ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี (กลุ่มละ 20 คน) รับประทาน 30 มล.ต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์  ระหว่างการทดสอบผู้ทดสอบทุกคนจะได้รับอาหารพลังงานต่ำ (hypocaloric diet) และออกกำลังกาย 4 วัน/สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่า น้ำมันมะพร้าวไม่ทำให้น้ำหนักตัวและ body mass index (BMI) เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง เมื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับคลอเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) แต่มีระดับไขมันตัวดี (HDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลือง มีระดับคลอเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45 และ 23.48 ตามลำดับ และมีระดับไขมันตัวดี (HDL) ลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง อย่างไรก็ตามระดับไตรกลีเซอไรด์ของทั้งสองกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง

แม้การศึกษานี้จะแสดงให้เห็นว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีผลต่อการลดลงของน้ำหนักตัวของกลุ่มทดลอง และไม่ทำให้ระดับไขมันที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (คลอเลสเตอรอลรวม ไขมันตัวร้าย(LDL) และไตรกลีเซอไรด์) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับไขมันตัวดี(HDL) ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ทำการทดสอบในกลุ่มคนจำนวนน้อย และระยะเวลาที่ทดลองก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ (12 สัปดาห์) นอกจากนั้นการได้รับอาหารพลังงานต่ำและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ(4 วัน/สัปดาห์) ก็นับเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่อาจส่งเสริมให้ผลการทดลองเป็นไปในทางที่ดีจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูผลของน้ำมันมะพร้าวต่อการลดน้ำหนักและการสะสมของระดับไขมันดังกล่าวในระยะยาว ดังนั้นจากข้อมูลที่มีในขณะนี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการลดน้ำหนักหรือจะส่งผลดีต่อระดับไขมันที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากจะให้แนะนำถึงหนทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดในขณะนี้สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักก็คงจะหนีไม่พ้นการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

จากบทความนี้ ก็ไม่ได้ต้องการลบล้างความเชื่อหรือความรู้ที่ส่งผ่านกันมา แต่อยากจะให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงมุมมองว่า อาหารทุกอย่างมีประโยชน์ และมีสรรพคุณมากมายก็จริง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมีตัวแปลอยู่ปริมาณ ระยะเวลา และสภาพร่างกายของแต่ละบุคลด้วย  ดังนั้นหน้าที่ของเราคือกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นจริงเละตรวจสอบว่ามีการอวด อ้างสรรพคุณเกินจริงไปมากน้อยเพียงได แล้วการศึกษาหาขอมูลให้รอบด้านจึงจะประโยชน์เก่ตัวเราเองค่ะ

 

Credit: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Latest