ใบเขลียง ใบเหรียง ใบเหลียง ใบเหมียง ตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียกกัน จัดเป็นผักพื้นบ้านประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีมากแถบจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะจังหวัดระนอง เขาถือเป็นผักประจำถิ่น ซึ่งด้วยความอร่อย และความนิยมทานใบเหลียงเพิ่มขึ้น ตอนนี้เริ่มเห็นใบเหลียงจำหน่ายในกรุงเทพแล้ว หาซื้อได้ไม่ยาก ราคาก็ไม่แพงนัก รสชาติมัน อมหวาน ไม่ขม ไม่เหม็นเขียว ทานง่ายเด็กๆ ที่ไม่ชอบทานผักก็ทานได้
ใบเหลียง อุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน ซึ่งถือว่าเป็น สารต้านออกซิเดชั่น(สารต้านอนุมูลอิสระ) ที่สำคัญ ทั้งยังเป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเออีกด้วย มีข้อมูลออกมาจากภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ใบเหลียง 100 กรัม หรือ หนึ่งขีดเฉพาะใบ ไม่รวมก้าน จะให้เบต้าแคโรทีน สูงถึง 1,089 ไมโครกรัมหน่วยเรตินัล ปริมาณนี้สูงกว่าผักบุ้งจีนถึงสามเท่า มากกว่าผักบุ้งไทย 5-10 เท่า และ มากกว่าใบตำลึงเสียด้วยซ้ำ
แม้แต่ผักที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดผักที่เป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนอย่างแครอท ก็มีปริมาณเบต้าแคโรทีนไม่ต่างจากใบเหลียงมากนัก
สำหรับเมนูใบเหลียงผัดไข่นี้ถือเป็นเมนูขึ้นชื่อตามร้านอาหารปักษ์ใต้เลยก็ว่าได้ ซึ่งความจริงแล้วเมนูนี้มีเครื่องปรุงไม่เยอะ และทำไม่ยากเลย
ส่วนผสมและเครื่องปรุงใบเหลียงผัดไข่
- ใบเหลียงเด็ดแต่ใบไม่เอาก้าน 30 กรัม พลังงานประมาณ 120 kcal
- ไข่ไก่ 2 ใบ พลังงานประมาณ 156 kcal
- น้ำมันรำข้าว 2 ช้อนชา พลังงานประมาณ 80 kcal
- กระเทียมสับ 3 กลีบ พลังงานประมาณ 9 kcal
- น้ำปลา
- ซีอิ้วขาว
- น้ำตาลมะพร้าว ส่วนนี้ให้พลังงานประมาณ 30 kcal
วิธีการทำ
ตั้งกระทะ non stick เติมน้ำมันรำข้าวลงไป รอให้ร้อน จากนั้น นำกระเทียมที่สับแล้วลงคั่วจนหอม ใส่ใบเหลียงลงผัด ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ้วขาว น้ำตาล ปรุงรสตามชอบ ผัดให้ผักสลบ ใช้ตะหลิวผลักใบเหลียงไปอยู่ด้านนึงของกระทะ แล้วตอกไข่ใส่ลงไปตีให้แตก ค่อยๆ ตักใบเหลียงลงกลบที่ไข่ รอซักครู่ให้กลับด้าน รอจนไข่สุกแล้ว โรยพริกไทย ตักขึ้นเสิร์ฟได้เลย ขนาดตามสูตร สามารถทานได้ประมาณ 2-3 คน เมนูนี้แนะนำทานพร้อมข้าวสวยร้อนๆ หรือจะผัดรสอ่อนๆ ทานเปล่าๆ ก็อร่อยค่ะ พลังงานต่อจาน 395 kcal
Credit: พลังงานอาหาร google.com, aopdh02.doae.go.th