ได้มีโอกาสไปทำธุระย่านเยาวราช เลยทำให้นึกถึงของหวานเพื่อสุขภาพขึ้นมาอย่างนึง นั่นก็คือเฉาก๊วย สำหรับหลายคนภาพคุ้นตาของเฉาก๊วยก็คือ เยลลี่สีดำ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ขมนิดๆ ทานคู่กับน้ำเชื่อม และน้ำตาลทรายแดง แบบไม่ฟอกสี หรือที่คนจีนเรียกว่า โอวทึ้ง ซึ่งจริงๆ แล้ว เฉาก๊วย ไม่จำเป็นต้องเป็นเยลลี่เนื้อหนึบหนับเท่านั้น คนสมัยก่อนทานเฉาก๊วยในแบบเครื่องดื่มกันด้วย หรือใช้เฉาก๊วยเป็นส่วนประกอบของสูตรยาแผนโบราณหลายสูตร
ทำความรู้จัก เฉาก๊วย
เฉาก๊วยที่เราทานอยู่ ได้มาจากการนำน้ำไปเคี่ยวกับหญ้าเฉาก๊วยจนเกิดยางเหนียวสีดำ แล้วนำน้ำที่ได้ไปทำเครื่องดื่ม หรือนำไปเคี่ยวกับแป้งมัน ผงวุ้น หรือเจลาติน เพื่อให้เซ็ตตัว ใช้ทานเป็นของหวานคลายร้อนได้
ซึ่งหญ้าเฉาก๊วยเป็นพืชตระกูลเดียว กับ สะระแหน่ โหระพา และแมงลัก มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีรสเย็นซ่า มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยบรรเทาอาการหวัด และอาการอักเสบ
มาทำเฉาก๊วยกันเถอะ
เอาจริงๆ การทำเฉาก๊วยกินเองที่บ้านไม่ใช่เรื่องยากเลย ความยากอยู่ที่การหาวัตถุดิบ เพราะหญ้าเฉาก๊วยไม่ได้มีขายตามตลาดทั่วไป อาจจะต้องตามหาในแหล่งเฉพาะอย่างเช่น ย่านเยาวราช ย่านคนจีน หรือ ตามร้านขายยาแผนโบราณ อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อัตราส่วนของส่วนผสม และเวลาที่เหมาะสม สำหรับสูตรที่ lovefitt ทำ เป็น 2 แบบคือ แบบใช้ผงวุ้น และแบบใช้ผงเจลาติน เนื้อเฉาก๊วยที่ได้จะแตกต่างกัน สูตรนี้ใช้ทดแทนการใช้ แป้งมันหรือ แป้งเท้ายายม่อมได้ อาจจะไม่ได้เฉาก๊วยที่มีเนื้อหนึบหนับสไตล์เฉาก๊วยชากังราว แต่ก็ช่วยลงพลังงานในตัวเฉาก๊วยลงได้มากเลยทีเดียว
ส่วนผสมของเฉาก๊วย
- หญ้าเฉาก๊วย 150 กรัม ให้พลังงานประมาณ 4 kcal
- น้ำสะอาด 2 ลิตร
- เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนชา
- ผงวุ้น 2 ช้อนชา (สำหรับน้ำเฉาก๊วย 2 ถ้วยตวง) ให้พลังงาน 29 kcal
- ผงเจลาติน 4 ช้อนชา (สำหรับน้ำเฉาก๊วย 2 ถ้วยตวง) ให้พลังงาน 33 kcal
- น้ำตาลทรายไม่ฟอกขาว 2 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 48 kcal
- น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 128 kcal
วิธีการทำเฉาก๊วย
สำหรับวิธีการจะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือการเตรียมน้ำเฉาก๊วย และการนำน้ำเฉาก๊วยไปทำให้เซ็ตตัวด้วย ผงวุ้น และ เจลาติน
การเตรียมน้ำเฉาก๊วย จะเริ่มจากการล้างหญ้าเฉาก๊วยให้สะอาด อย่างน้อย 2-3 น้ำ ขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญ เนื่องจากหญ้าเฉาก๊วยเป็นพืชคลุมดิน หญ้าเฉาก๊วยที่ตากแห้งมาจะมีเศษดินเศษฝุ่นติดมามาก ถ้าล้างไม่สะอาดอาจจะทำให้มีทราย หรือ เศษดินผสมอยู่ในเนื้อเฉาก๊วยได้ เมื่อได้หญ้าเฉาก๊วยที่ล้างสะอาด และคลายตัวดีแล้ว ให้นำลงหม้อที่จะต้ม เติมน้ำลงไป ใครที่อยากให้น้ำเฉาก๊วยมีสีเข้ม ให้เติม เบคกิ้งโซดา ลงไปต้มด้วย ต้มและคนไปเรื่อยๆ ถ้ามีฟองก็ให้ช้อนฟองทิ้งไป สังเกตปริมาณน้ำที่ต้ม ลดลงเหลือ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำที่ใส่ไปตอนแรก และน้ำมีสีดำ เมื่อจับดูตัวหญ้าจะมีความลื่น แสดงว่าใช่ได้แล้ว ซึ่งขั้นตอนนี้อาจกินเวลาประมาณ 1-2 ชม. จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปกรองเอาแต่น้ำด้วยผ้าขาวบาง
วีดีโอวิธีทำ เฉาก๊วย
วิธีการทำให้เฉาก๊วยเซ็ตตัว
นำน้ำเฉาก๊วยที่คั้นได้ตวงด้วยถ้วยตวง ลองชิมดูถ้ามีรสขมมากสามารถเติมน้ำเพื่อเจือจางความเข้มข้นได้
อัตราส่วนของผงวุ้นที่เหมาะสมคือ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ถ้วยตวง โดยนำผงวุ้นละลายลงในน้ำเฉาก๊วย เติมน้ำตาล และน้ำผึ้ง นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเดือดแล้วนำมาเทใส่พิมพ์ที่เตรียมไว้
อัตราส่วนของผงเจลาตินที่เหมาะสมคือ 2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ถ้วยตวง วิธีการจะต่างกับการใช้ผงวุ้นเล็กน้อย คือนำผงเจลาตินใส่ในน้ำก่อนเพื่อให้พองตัว จากนั้นนำไปผสมกับน้ำเฉาก๊วย น้ำตาล และน้ำผึ้ง แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน ค่อยๆ คน เอาแค่มีควันอ่อนๆ และน้ำตาลละลายหมด ก็นำไปเทใส่พิมพ์ที่เตรียมไว้
นำเฉาก๊วยที่ได้ พักไว้ให้เย็นลง จากนั้นนำเข้าตู้เย็น 4-6 ชม เมื่อถึงเวลาเสิร์ฟ ก็นำมาตัดได้ตามสไตล์ จะเต๋าใหญ่ เต๋าเล็ก หรือจะใช้ช้อนขูดเป็นชิ้นโตๆ ก็ได้ เนื้อเฉาก๊วยที่ทำจากผงวุ้นจะมีกรอบ และแข็งกว่า พลังงานของเฉาก๊วยจากผงวุ้นตามสูตรอยู่ที่ 119 kcal สำหรับเนื้อเฉาก๊วยที่ทำจากผงเจลาติน จะมีความเหนียวหนุบหนับแบบเจลลี่ พลังงานของเฉาก๊วยจากผงเจลาตินตามสูตรอยู่ที่ 123 kcal
ได้เฉาก๊วยมาแล้วใครจะเอาไปทำอะไรต่อก็ได้เลย ถ้าจะใส่น้ำเชื่อมกับน้ำแข็ง หรือ เอาไปทำเฉาก๊วยนมสด ก็อย่าลืมคำนวณพลังงานส่วนที่เพิ่มเติมด้วยนะ หรือถ้าใครจะไม่เติมน้ำตาลกับน้ำผึ้งลงไปก็ช่วยลดพลังงานในเนื้อเฉาก๊วยลงได้อีก