Go to content

พริก เล็กแต่ประโยชน์ไม่เล็ก

สมุนไพรรสชาติเผ็ดร้อน ที่ไม่ได้มีดีแค่ความแซบ แต่พริกยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์มากมาย ความเผ็ดที่พอดีของพริก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้มากมาย

คนไทยคุ้นเคยกับอาหารเผ็ดร้อนมาช้านาน เมื่อพูดถึงความเผ็ดร้อน พืชที่ช่วยเพิ่มความเผ็ด ความแซบให้เมนูอาหารตำหรับไทยคงหนีไม่พ้นพริกเป็นแน่ พริกถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญที่นิยมนำมาประกอบอาหาร มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ถูกเผยแพร่ และนำไปปลูกในหลายๆ ทวีปทั่วโลก รวมถึงในทวีปเอเชีย และประเทศไทยด้วย ซึ่งตามสถิติคนไทยกินพริกอยู่ที่ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเลยทีเดียว

พริกในโลกนี้มีมากว่า 400 สายพันธุ์ โดยมีขนาด รูปร่าง สีสัน และดีกรีความเผ็ดร้อน แตกต่างกันไป โดยส่วนที่นำมารับประทานคือผล ไม่ใช่เมล็ดอย่างที่เข้าใจกัน นิยมนำมารับประทานทั้งผลที่ยังดิบ (พริกเขียว) และผลที่สุกแล้ว (พริกแดง) พริกไม่เพียงแต่เป็นเครื่องปรุงรสที่เติมความจัดจ้านให้อาหาร แต่พริกยังจัดอยู่ในกลุ่มพืชสมุนไพร ที่มีสรรพคุณทางยา ส่วนของพริกที่ทำให้เกิดรสเผ็ดร้อน คือส่วนของแกนด้านใน หรือ รกของพริก ความเผ็ดร้อนนี้เอง ที่ทำให้พริกกลายเป็นสมุนไพร ที่มีประโยชน์ไม่เล็กตามขนาดของมัน

ประโยชน์ดีๆ ของพริก

พริกไม่ว่าสายพันธ์ไหนๆ ก็มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุอยู่มากมาย โดยเฉพาะวิตามินซี (ต้องเป็นพริกสด) เป็นแหล่งของกรด ascorbic ที่ช่วยขยายหลอดเลือด นอกจากนี้ สารสำคัญที่ทำให้เราเผ็ดร้อนเมื่อทานพริกเข้าไปก็คือ แคปไซซิน (capsaicin) แคปไซซินเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สามารถทนต่อความร้อน และเย็นได้ พริกจึงไม่สูญเสียความเผ็ดเมื่อนำไปต้ม และแช่แข็ง

สารแคปไซซิน ละลายได้ดีในไขมัน และแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อทานอาหารเผ็ดๆ น้ำเปล่า น้ำเย็น จึงไม่ได้ช่วยลดความเผ็ด เพียงแต่ลดอาการแสบร้อน ระคายเคืองในช่องปากเท่านั้น ถ้าพลาดทานพริกเข้าไป ลองหานมสดมารับประทานดู จะช่วยลดความเผ็ดร้อนของพริกลงได้ นอกจากนี้ยังพบ สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน และ วิตามินเอ มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และ ไนอาซินในพริกอีกด้วย

คุณค่าทางอาหารของพริก 100 กรัม
พลังงาน40 kcal 
คาร์โบไฮเดรต9 กรัม
น้ำตาล5 กรัม
โปรตีน1.9 กรัม
ใยอาหาร1.5 กรัม

หลากหลายสรรพคุณเพื่อสุขภาพของ พริก

พริกถูกนำมาใช้ปรุงอาหาร และปรุงผสมในตำรับยามาช้านานหลายพันปีแล้ว มีข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับพริกว่า ความจริงแล้วการทานพริกจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่บนพื้นฐานของความพอดี ความเผ็ดของพริกไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด เพียงแต่ความเผ็ดร้อนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองช่องปาก ระบบย่อยอาหาร และ ระบบขับถ่าย และอาจเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรค ในผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร อย่างโรคแผลในกระเพาะ และโรคกรดไหลย้อนได้ จึงควรทานแต่พอเหมาะพอดี พออร่อยจะดีที่สุด

ช่วยบรรเทาอาการหวัด และ ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น

แคปไซซินที่อยู่ในพริกสามารถช่วยลดน้ำมูก ที่เป็นตัวกีดขวางการหายใจในช่วงที่เป็นหวัด เป็นไซนัส หรือโรคภูมิแพ้ต่างๆได้ และยังสามารถช่วยบรรเทาอาการไอ และขับเสมหะได้อีกด้วย

ลดการอุดตันของหลอดเลือด

การทานพริก สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอุดตันได้ ทำให้เลือดไหลเวียนดี เบต้าแคโรทีน และวิตามินซีในพริก จะช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่น ให้สามารถรับแรงดันในระดับต่างๆ ได้ดี

ลดคอเรสเตอรอลในเลือด

สารความเผ็ดร้อนในพริก (แคปไซซิน) ช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้าง LDL และยังส่งเสริม กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง HDL มากขึ้น ทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดต่ำลง เมื่อสามส่วนของไขมันนี้สมดุลก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม

ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

เนื่องจากพริก (โดยเฉพาะพริกสด) เป็นพืชที่มีวิตามินซีสูง ช่วยยับยั้งการสร้าง สารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนที่ช่วยหยุดการแพร่กระจายของเซลมะเร็งได้ พริกยังมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย เป็นการช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก และ โรคมะเร็งปอดได้อีกทาง

บรรเทาอาการเจ็บปวด

ในตำหรับยา มีการนำพริกมาใช้ระงับความเจ็บปวดตามร่างกายมานานแล้ว เช่น บรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดฟัน ลดการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งในปัจจุบัน มีการนำแคปไซซินในพริกมาผสมกับขี้ผึ้ง ผลิตเป็นยาหม่องใช้บรรเทาอาการคัน ผดผื่น และยังใช้นวดเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้

ช่วยให้อารมณ์ดี

แคปไซซิน ในพริกช่วยร่างกายสดชื่น อารมณ์ดี เนื่องจากสารตัวนี้จะส่งสัญญาณไปที่ต่อมใต้สมอง หลั่งสารที่ชื่อว่า เอนดอร์ฟิน (endorphin) ออกมาหน้าที่หลักของ เอนดอร์ฟิน (endorphin) คือช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และ ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส

เห็นไหมว่าพริกเม็ดเล็กๆ ที่พวกเราทานกัน เห็นกันจนคุ้นเคย จะมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ นี่ยังไม่นับรวมงานวิจัยต่างๆ ของพริกที่ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานอีก บอกอยากนี้ไม่ได้แนะนำให้ทานเผ็ดทานพริกกันมากๆ เดินทางสายกลางๆ เอาที่ทานได้ทานไหว ไม่ทำให้ไม่สบายตัว ปวดท้องเป็นใช้ได้ หรือหากใครที่เป็นมือใหม่จะเริ่มทานพริก  อาจเริ่มจากพริกที่มีความเผ็ดร้อนน้อยๆ อย่างพริกหยวก พริกหวาน หรือ พริกไทยก่อนก็ได้ เพราะพริกไม่ว่าจะชนิดไหน ก็ล้วนแล้วได้ประโยชน์ทั้งนั้น

References

เรียบเรียง : lovefitt.com

  • doctor.or.th
  • wikipedia.org
  • สสส.

Latest