การฝึกโยคะ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้โยคะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้รักสุขภาพทั้งชายและหญิง แม้แต่ดารานักแสดงก็หันมาฝึกโยคะกัน
โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4-5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคี และชนชั้นวรรณะพราหมณ์ เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะ ได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็น ศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อบรรลุ เป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้นๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ (Hatha Yoga ) ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธี ปฏิบัติของพระพุทธศาสนา
คนทั่วไปอาจมองว่าโยคะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วหัวใจของการฝึกโยคะไม่ใช่เฉพาะเพื่อรูปร่างที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่การฝึกโยคะ คือ การมุ่งพัฒนากายและจิตให้เกิดศักยภาพสูงสุด ดังนั้นหากให้ความสำคัญกับการฝึกจิตควบคู่ไปกับการฝึกกายจะทำให้เราเก็บรับประโยชน์จากโยคะได้เต็มที่ ซึ่งก็หมายถึงเมื่อร่างกายของเราทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จิตของเราทำงานได้เต็มกำลัง ความสามารถ กลไกต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแล้วก็ย่อมเกิดภาวะที่เป็นสุขนั่นเอง เมื่อร่างกายและจิตใจเป็นสุข ย่อมต้องเกิดผลดีแน่นอน โอกาสที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็น้อยลงตาม จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าโยคะจะไม่ใช่ปาฏิหารย์ ไม่ใช่ยา แต่ โยคะสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้
จากหลักการที่กล่าวมาเราสามารถแบ่งประโยชน์ของการฝึกโยคะออกเป็น 2 ทางคือ ประโยชน์ทางด้านร่างกาย และปรโยชน์ทางด้านจิตใจ
ประโยชน์ของโยคะทางด้านร่างกาย
ท่าโยคะส่วนใหญ่จะมีการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกไม่งอ ไหล่ไม่เอียง ข้อต่อ ข้อพับ ทำงานได้ดีขึ้น กระดูกสันหลังจะถูกปรับให้เข้าสภาพปกติ ป้องกันอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือปวดศีรษะ และปรับรูปร่างให้สมดุล และที่สำคัญท่าโยคะช่วยให้อวัยวะเหล่านี้โดยรวมมีความสมดุล เพราะโยคะมีการผ่อนคลายสลับกับการเหยียดยืดตลอดเวลา
นอกจากนี้หลายๆท่าของการฝึกจะเป็นการ กด นวด อวัยวะ ระบบต่างๆ ภายในของร่างกาย เช่น ระบบต่อมไร้ท่อ, ระบบย่อยอาหาร, ระบบขับถ่าย, ระบบสืบพันธุ์, ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปที่ไต ช่วยล้างไตให้สะอาดขึ้น กระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ระบบหายใจมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ฯลฯ
เมื่อเราฝึกโยคะมีการยืดสลับกับการผ่อนคลาย จะทำให้ระบบเหล่านี้ทำงานได้ดี รวมถึงเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ปรับระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ บำบัดโรคที่เกี่ยวกับเลือดไม่ดี เช่น โรคภูมิแพ้ ลมหมักหมม ผิวพรรณที่ไม่ผ่องใส สมองไม่ปลอดโปร่ง มึนศีรษะง่ายโยคะทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ ชะลอความแก่ชรา ร่างกายมีสัดส่วนดีขึ้น สวยงามขึ้น และยังช่วยควบคุมน้ำหนักเพราะมีการเผาผลาญแคลอรี่ในขณะการฝึกอีกด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยการฝึกโยคะในเวลาประมาณ 1 ชม. จะสามารถเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 180-200 kcal ทั้งนี้ปริมาณการเผาผลาญอาจมากหรือน้อยลงได้ตาม อายุ เพศ และความหนักในการฝึก
ประโยชน์ของโยคะทางด้านจิตใจ
นอกจากจะได้รับความแข็งแรงทางกายแล้ว ด้วยที่ท่าทางในการฝึกโยคะนั้นเป็นท่าที่ต้องใช้กำลังในการควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละส่วน สมาธิจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการฝึก เพื่อความคุมและดึงความสามารถของกล้ามเนื้อแต่ละส่วนให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ การฝึกโยคะจึงเป็นการพัฒนา ระบบประสาทต่างๆในการติดต่อสื่อสารให้เกิดความสัมพันธ์กันของกลไกต่างๆ ภายในร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุล ผลพลอยได้จากการฝึกที่มีสมาธินั้นจะทำให้เราผ่อนคลายความตึงเครียดลดความเร็วในกระบวนการคิด ทำให้เรามีสติ รู้ความรู้สึก รู้จิตและอารมณ์ของตนเอง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สุขภาพจิตดี จิตใจมีความสงบและมีสมาธิมากขึ้น ลดความวิตกกังวลและอาการที่ตื่นกลัวได้ ทำให้นอนหลับสนิท ลดอาการเหนื่อยง่ายและทำให้มีพลังมากขึ้นตลอดวัน
ฟังอย่างนี้แล้วการฝึกโยคะก็ถือว่าเป็นอีก 1 กิจกรรมที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ รวมถึงการนำโยคะบำบัดโรคหลายๆ โรค แต่ในบางท่าก็ไม่เหมาะกับบางโรค เช่น คนที่เป็นความดันโลหิตสูงและต่ำไม่ควรทำท่าก้มศีรษะ หรือคนที่มีปัญหาที่คอที่ไม่สามารถแหงนและบิดคอมากๆ ได้ ซึ่งหากใครมีปัญหาสุขภาพแบบนี้ควรให้แพทย์ยืนยันก่อนว่าสามารถฝึกได้หรือไม่ และหากฝึกได้ก็ควรให้ครูผู้ฝึกดูแลอย่างใกล้ชิด
ในบางรายที่หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือบาดเจ็บกล้ามเนื้อแขนหรือคอ ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าฝึกโยคะได้หรือไม่เช่นกัน และผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรงดฝึกโยคะ เพราะแรงกดจากการฝึกท่าอาสนะอาจกระทบกระเทือนระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น นอกจากนั้นผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนจะฝึกท่าอาสนะใดๆ และการฝึกควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังและตามสภาพร่างกายที่ะสามารถทำได้ และไม่ควรหักโหมทำตามคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บขณะฝึก
เรียบเรียงโดย: lovefitt.com
Credit: oknation.net, thaiall.com, yogachumphon.com, yogaandme.net, health.kapook.com, yogatolearn-thai.com